Schuschnigg, Kurt Alois Josef Johann Edler von (1897-1977)

นายคูร์ท อาลัวส์ โยเซฟ โยฮันน์ เอดเลอร์ ฟอน ชุชนิกก์ (พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๕๒๐)

คูร์ท อาลัวล์ โยเซฟ โยอันน์ เอดเลอร์ ฟอน ชุชนิกก์ เป็นนักกฎหมายและนักการเมืองชาวออสเตรีย เขาเป็น


นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐออสเตรียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๓๘ และเป็นรัฐมนตรี ๒ ครั้งในรัฐบาลของคาร์ล บูเรช (Karl Buresch) และรัฐบาลเองเงิลแบร์ท ดอลล์ฟุสส์ (Engelbert Dollfuss)* ตามลำดับ ชุชนิกก์ถูกบีบบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ ก่อนที่กองทัพนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* จะยาตราเข้ามายึดครองและผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* โดยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* เพียง ๑ วัน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ชุชนิกก์ถูกคุมขังในค่ายกักกันของนาซีในที่ต่าง ๆ หลายแห่งในฐานะนักโทษที่ได้รับการคุ้มครอง เมื่อสงครามใกล้จะยุติลงเขาได้รับการปล่อยตัวโดยกองทัพอเมริกันในวันที่ ๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังจากนั้น เขาเดินทางไปพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกันและดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์สาขาวิชากฎหมายมหาชนที่มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ (Saint Louis University) รัฐมิสซูรี (Missouri) ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ ชุชนิกก์และครอบครัวเดินทางกลับออสเตรียและพำนักอยู่จนถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. ๑๙๗๗

 ชุชนิกก์เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๗ ที่เมืองรีวาเดลการ์ดา (Riva del Garda) ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungary)* [ปัจจุบันอยู่ในแคว้นเตรนตีโน (Trentino) อิตาลี] เขาเป็นบุตรของอาร์ทูร์ ฟอน ชุชนิกก์ (Arthur von Schuschnigg) นายพลแห่งกองทัพจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งได้รับการยกสถานะให้เป็นขุนนางเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ค.ศ. ๑๘๙๘ บรรพบุรุษของอาร์ทูร์มีเชื้อสายสโลวีนจากเมืองรัดสแบร์ก (Radsberg) ใกล้เมืองคลาเกินฟูร์ท (Klagenfurt) ในแคว้นคารินเทีย (Carinthia) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของออสเตรีย ต่อมาตระกูลชุชนิกก์ได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในแคว้นทิโรล (Tyrol) และได้รับใช้จักรวรรดิออสเตรียมาหลายชั่วอายุคน ชุชนิกก์ เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาในวิทยาลัยชเตลลามาทูทีนาของคณะนักบวชเยซูอิต (Stella Matutina Jesuit College) ในเมืองเฟลด์เคียร์ช (Feldkirch) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เขาถูกจับกุมและถูกคุมขังโดยกองทัพอิตาลีจนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๙ จึงได้รับการปล่อยตัว หลังจากนั้น ชุชนิกก์ได้เข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยไฟรบูร์กอิมไบรเกา (Freiburg im Breigau) ในเยอรมนี และย้ายไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอินน์สบรุค (Innsbruck) ในแคว้นทีโรล ออสเตรียใน ค.ศ. ๑๙๒๔

 หลังสำเร็จการศึกษาชุชนิกก์ประกอบอาชีพทนายความโดยเปิดสำนักงานทนายความที่เมืองอินน์สบรุคและเริ่มสนใจการเมืองอย่างลึกซึ้ง จึงได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มภราดรภาพแห่งออสเตรียและเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคสังคมคริสเตียน (Christian Social Party) ซึ่งเป็นพรรคในแนวอนุรักษนิยมที่มีนโยบายเอียงขวา ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ขณะอายุ ๓๐ ปี ชุชนิกส์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติ (Nationalrat) เป็นครั้งแรก เขาเป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุด ในขณะนั้น นอกจากนี้ ชุชนิกก์ยังมีบทบาททางด้านการทหารโดยได้จัดตั้งหน่วยรบ (Kampfverband) ของเขาขึ้นเองใน ค.ศ. ๑๙๓๐ เพื่อช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศเพราะเขาเห็นว่ากองกำลังรักษามาตุภูมิ (Heimwehr) ที่รัฐบาลออสเตรียในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ จัดตั้งขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศยังไม่เป็นการ เพียงพอ หน่วยรบของชุชนิกก์เน้นนโยบายเชิดชูคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกและต่อต้านยิว

 ด้านชีวิตส่วนตัวชุชนิกก์เข้าพิธีสมรสกับแฮร์มา มาเซรา (Herma Masera) ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ และมีบุตรชายด้วยกัน ๑ คนซึ่งชื่อคูร์ทเช่นเดียวกับเขา ภรรยาของเขาถึงแก่กรรมในอุบัติเหตุทางรถยนต์ใกล้เมืองลินซ์ (Linz) เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๕

 ในด้านการเมือง ในสมัยนายกรัฐมนตรีคาร์ล บูเรช ชุชนิกก์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นตำแหน่งแรก ต่อมาในสมัยดอสส์ฟุสส์ เขาย้ายไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลดอลล์ฟุสส์ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการอย่างแท้จริง ในสมัยนี้ ดอลล์ฟุสส์ได้ยุบรัฐสภา ยกเลิกการมีพรรคการเมืองและยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญรวมทั้งดำเนินการลงโทษผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง โดยมีชุชนิกก์เป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่ผลักดันให้มีการนำโทษประหารชีวิตซึ่งยกเลิกไป ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๐ กลับมาใช้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๓ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ เมื่อดอลล์ฟุสส์ถูกพวกนาซีออสเตรียลอบสังหาร ชุชนิกก์ในวัย ๓๖ ปีก็ได้ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อมา เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรีย ในช่วงเวลาเกือบ ๕ ปีที่เขาดำรงตำแหน่ง ชุชนิกก์สานต่อนโยบายและการปกครองแบบเผด็จการของดอลล์ฟุสส์เกือบทั้งหมดทำให้รัฐบาลชุชนิกก์ได้รับสมญาในภายหลังว่าเป็นรัฐบาลกึ่งเผด็จการฟาสซิสต์ และตัวเขาก็ถูกเรียกว่าเป็นผู้นำเผด็จการกึ่งฟาสซิสต์หรือฟาสซิสต์แบบออสเตรียเช่นเดียวกับดอลล์ฟุสส์ นอกจากนี้ ชุชนิกก์ยังพยายามนำออสเตรียไปสู่ความเป็นรัฐเยอรมันรัฐที่ ๒ ที่เน้นความเป็นคริสเตียนและสูงส่งกว่าจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ของฮิตเลอร์ แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จก็ตาม ในขณะเดียวกัน ชุชนิกก์ยังดำเนินนโยบายกำจัดศัตรูทางการเมืองของเขาอย่างกว้างขวาง ปรากฏว่า ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๔ หลังการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นานจำนวนนักโทษการเมืองตามค่ายกักกันต่าง ๆ มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง ๑๖,๐๐๐ คน

 ในด้านกิจการภายในชุชนิกก์ประสบปัญหามากมายหลายด้านซึ่งทำให้เขาต้องทำงานหนัก เขาต้องพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ใกล้จะล้มละลายและรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศในสภาพที่ขาดกองกำลังรักษาความสงบ เพราะสนธิสัญญาสันติภาพแซงแชร์แมง (Treaty of Saint Germain)* ที่ออสเตรียลงนามกับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรในฐานะประเทศผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ ๑ ห้ามออสเตรียมีกำลังทหารเกินกว่า ๓๐,๐๐๐ นาย นอกจากนี้ เขายังต้องเผชิญกับบรรดากองกำลังอิสระที่พรรคการเมืองและกลุ่มต่าง ๆ จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลกลาง ทั้งยังต้องคอยระแวดระวังกองกำลังนาซีออสเตรียซึ่งสนับสนุนการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนีของฮิตเลอร์ที่นับวันจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

 สิ่งที่ชุชนิกก์วิตกกังวลอย่างยิ่งคือการรักษาอิสรภาพและบูรณภาพแห่งดินแดนของออสเตรีย ในตอนแรกเขาพยายามต่อต้านภัยคุกคามจากฮิตเลอร์ด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านทางด้านตะวันออกและด้านใต้ซึ่งได้แก่ ฮังการีและอิตาลี แต่ต่อมาเมื่อฮิตเลอร์มีอำนาจทั้งทางการเมืองและการทหารมากขึ้นทุกที เขาก็ตระหนักว่าประเทศพันธมิตรทั้งสองคงไม่อาจช่วยออสเตรียได้ และหากเขายังคงดำเนินนโยบายแข็งขืนต่อฮิตเลอร์ต่อไป อาจนำความหายนะมาสู่ประเทศได้ หลัง ค.ศ. ๑๙๓๕ เขาจึงเปลี่ยนนโยบายมาเป็นรอมชอมและเอาใจฮิตเลอร์มากขึ้น ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ชุชนิกก์ได้ลงนามในความตกลงออสเตรีย-เยอรมนี (Austro-German Agreement) เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างกัน รวมทั้งยอมปล่อยตัวพวกนาซีออสเตรียออกจากที่คุมขังและแต่งตั้งแกนนำคนสำคัญของนาซีออสเตรียเข้าร่วมในคณะรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรียกับเยอรมนีกลับเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ

 ในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๘ ชุชนิกก์เดินทางไปพบฮิตเลอร์ที่เมืองแบร์ชเทสกาเดิน (Berchtesgaden) ตามคำเชิญของฮิตเลอร์เพื่อปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองให้ดีขึ้น แต่เมื่อเขาไปถึงก็ต้องพบกับความประหลาดใจอย่างมากเมื่อฮิตเลอร์ยื่นคำขาดให้ชุชนิกก์ เปิดทางให้พวกนาซีออสเตรียเข้าไปกุมอำนาจในการบริหารประเทศโดยทันที และให้แต่งตั้งอาร์ทูร์ ไซส์ซิงควาร์ท (Arthur Seyss-lnquart)* ซึ่งเป็นแนวร่วมของนาซีเยอรมันเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงซึ่งคุมกำลังตำรวจและให้แต่งตั้ง ดร.ฮันส์ ฟิชเบิค (Hans Fischboeck) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเตรียมการก่อตั้งสหภาพเศรษฐกิจเยอรมนี-ออสเตรีย รวมทั้งให้มีการแลกเปลี่ยนนายทหารจำนวนนับร้อยคนระหว่างกองทัพของประเทศทั้งสอง ส่วนบรรดาพลพรรคนาซีทั้งหมดที่ถูกคุมขังอยู่ในที่คุมขังของออสเตรียก็จะต้องได้รับการอภัยโทษและปล่อยตัว ฮิตเลอร์สัญญาว่าหากชุชนิกก์ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้ เขาจะยอมให้ออสเตรียเป็นเอกราชต่อไปและจะประกาศยํ้าว่าความตกลงออสเตรีย-เยอรมัน ค.ศ. ๑๙๓๖ ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ในบันทึกความทรงจำของชุชนิกก์กล่าวว่า ฮิตเลอร์ใช้วิธีข่มขู่คุกคามอย่างหนักจนเขาต้องยอมลงนามในบันทึกความจำหรือความตกลงแบร์ชเทสกาเดิน (Berchtesgaden Agreement) ที่ฮิตเลอร์ยื่นให้เขาก่อนเดินทางกลับ

 เมื่อกลับถึงกรุงเวียนนา ชุชนิกก์ขอให้ประธานาธิบดีวิลเฮล์ม มิคลัส (Wilhelm Miklas) ลงนามรับรองความตกลงแบร์ชเทสกาเดิน ในตอนแรกมิคลัสยังลังเลแต่ในที่สุดเขาก็ลงนาม หลังจากนั้น มิคลัส ชุชนิกก์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญ ๆ อีก ๒-๓ คนก็ได้จัดการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทางเลือกสำหรับดำเนินการต่อไป ๓ ประการ คือ (๑) นายกรัฐมนตรีลาออกและให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพื่อจัดตั้งคณะรัฐบาลโดยไม่ต้องปฏิบัติตามพันธกิจที่กำหนดไว้ในความตกลงแบร์ชเทสกาเดิน หรือ (๒) ปฏิบัติตามความตกลงแบร์ชเทสกาเดินโดยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นใหม่ หรือ (๓) ปฏิบัติตามความตกลงแบร์ชเทสกาเดินโดยไม่เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งในที่สุด ที่ประชุมก็ตัดสินใจเลือกข้อ ๓ โดยให้ชุชนิกก์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

 ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๘ ชุชนิกก์ปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ประกอบด้วยผู้แทนจากพรรคการเมืองทุกพรรค ในครั้งนี้ฮิตเลอร์ได้ส่งนายทหารนาซีออสเตรียที่เพิ่งถูกปล่อยตัวจากที่คุมขังตามความตกลงแบร์ชเทสกาเดินเข้าร่วมรัฐบาลด้วย แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ต่อมาในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ฮิตเลอร์ได้กล่าวคำปราศรัยในสภาไรค์ชตาก (Reichstag) ซึ่งถ่ายทอดสดทางวิทยุกระจายเสียงทุกเครือข่ายในออสเตรียเพื่อให้ประชาชนทั้งในเยอรมนีและออสเตรียได้รับฟังอย่างทั่วถึงกัน ในคำปราศรัยนี้มีข้อความสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของฮิตเลอร์ในการผนวกออสเตรียตอนหนึ่งว่า “จักรวรรดิเยอรมันจะไม่ยอมประนีประนอมต่อการปราบปรามชาวเยอรมันจำนวน ๑๐ ล้านคนที่อยู่ข้ามพรมแดนเยอรมนีอีกต่อไป”

 คำปราศรัยดังกล่าวก่อให้เกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ในออสเตรียจากผู้ที่สนับสนุนฮิตเลอร์ที่เห็นด้วยและผู้ที่ต่อต้านนาซี ในตอนเย็นวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ได้มีการเปิดประชุมสภาไดเอ็ตของสหพันธ์ออสเตรีย (Austrian Federal Diet) เป็นวาระพิเศษเพื่อพิจารณาปัญหาความสัมพันธ์กับเยอรมนีในคำแถลงต่อสภา นอกจากชุชนิกก์จะได้กล่าวยํ้าถึงความตกลงออสเตรีย-เยอรมนีฉบับ ค.ศ. ๑๙๓๖ แล้วเขายังได้กล่าวว่า “ออสเตรียได้ก้าวไปไกลแล้ว และจะไม่ไกลไปกว่านั้น” ข้อความดังกล่าวทำให้พวกนาซีออสเตรียไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงได้เริ่มดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลหนังสือพิมพ์ Times แห่งกรุงลอนดอนได้พาดหัวข่าวความไม่พอใจของพวกนาซีที่มีต่อชุชนิกก์ ในขณะที่หนังสือพิมพ์เยอรมันก็ตีพิมพ์ข้อความว่า “คำว่าไกลเกินไปและจะไม่ไกลไปกว่านี้ รบกวนความรู้สึกของพวกเราอย่างมาก”

 อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศและแสดงให้ฮิตเลอร์และประเทศอื่น ๆ เห็นว่าประชาชนชาวออสเตรียยังต้องการที่จะคงความเป็นออสเตรียและเป็นอิสระจากจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ชุชนิกก์ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดีและผู้นำพรรคการเมืองต่าง ๆ รวมทั้งพวกสังคมนิยมและพวกคอมมิวนิสต์ก็ตัดสินใจให้มีการแสดงประชามติทั่วประเทศในวันอาทิตย์ที่ ๑๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ แต่เมื่อฮิตเลอร์ทราบข่าวนี้ก็มีปฏิกิริยาโดยทันที เพราะเขาเกรงว่าประชาชนชาวออสเตรียอาจลงมติคัดค้านการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี เขาจึงข่มขู่ด้วยการจะใช้กำลังทหารคุกคามจนชุชนิกก์ต้องยอมประกาศล้มเลิกกำหนดการลงประชามติในวันที่ ๑๐ มีนาคม ในวันรุ่งขึ้นพวกนาซีออสเตรียกระจายกำลังเข้ากุมอำนาจตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ ทั่วประเทศและบรรดาตำรวจเยอรมันจำนวนมากก็ได้หลั่งไหลเข้ามายังกรุงเวียนนาเพื่อปูทางสำหรับการยึดอำนาจให้แก่ฮิตเลอร์ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้รับการต้อนรับจากฝูงชนด้วยความยินดีแทบทุกแห่ง รัฐบาลชุชนิกก์ทั้งคณะจึงตัดสินใจลาออกในวันนั้นเพื่อเปิดทางให้ไซส์ซิงควาร์ทเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ตามข้อเรียกร้องของฮิตเลอร์

 ในคำแถลงการณ์ลาออกของคณะรัฐบาลทางวิทยุกระจายเสียงในเย็นวันที่ ๑๑ มีนาคม ชุชนิกก์ได้ให้เหตุผลแก่ประชาชนในการที่รัฐบาลไม่ได้ต่อต้านการยึดครองของเยอรมนีตอนหนึ่งว่า “คณะรัฐบาลต้องยอมให้แก่พลังอำนาจที่ก้าวร้าวรุนแรง ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาให้โลหิตของชนเชื้อชาติเยอรมันเดียวกันต้องหลั่งนองแผ่นดิน ด้วยเหตุนั้น รัฐบาลจึงไม่ได้สั่งให้กองทหารออสเตรียทำการต่อต้านการยึดครองประเทศครั้งนี้” ในวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ กองทัพเยอรมันได้ยาตราข้ามพรมแดนเข้ามาในออสเตรียโดยไม่มีการต่อต้านใด ๆ ทั้งสิ้น ในวันรุ่งขึ้นรัฐบาลออสเตรียที่นำโดยไซส์ซิงควาร์ทได้ออกกฎหมายเพื่อทำให้การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนีเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย แต่ประธานาธิบดีมิคลัสปฏิเสธที่จะลงนามในกฎหมายฉบับนี้และขอลาออกจากตำแหน่ง ไซส์ซิงควาร์ทจึงใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีลงนามแทน

 หลังจากที่กองทัพเยอรมันผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนีโดยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ แล้วชุชนิกก์ถูกกักตัวอยู่ในพระราชวังเบสเวอแดร์ (Belvedere) ในกรุงเวียนนาระยะหนึ่งในปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ เขาถูกพวกเกสตาโป (Gestapo)* สาขาเวียนนาย้ายไป คุมขังที่โรงแรมเมโทรโปลซึ่งถูกดัดแปลงเป็นสำนักงานใหญ่ของเกสตาโป ในขณะที่ถูกคุมขังอยู่นั้นในวันที่ ๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๘ เขาได้สมรสครั้งที่ ๒ กับเวรา ฟุกเกอร์ ฟอน บาเป็นเฮาเชิน (Vera Fugger von Babenhausen) อดีตเคาน์เตสเซอร์นิน (Countess Czernin) บุตรสาวขุนนางออสเตรีย ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน ๑ คน แม้ว่าระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่นั้น ชุชนิกก์สามารถสั่งชื้ออาหารจากร้านอาหารของเกสตาโปเข้ามารับประทานในที่คุมขังได้ แต่เมื่อเขาถูกย้ายไปคุมขังที่นครมิวนิกในฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน ชุชนิกก์ซึ่งมีเรือนร่างสูงถึง ๑.๘๓ เมตรมีนํ้าหนักเหลืออยู่เพียง ๔๐ กว่ากิโลกรัมเท่านั้น

 ต่อมา ขุชนิกก์ถูกส่งตัวไปสอบสวนที่สำนักงานใหญ่ด้านความปลอดภัยแห่งจักรวรรดิไรค์ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ถนนพรินซ์-อัลเบรชท์ (Prinz-Albrecht) ที่กรุงเบอร์ลินหลังจากนั้น เขาก็ถูกส่งตัวไปกักกันตามค่ายกักกันต่าง ๆ ทั้งที่ดาเคา (Dachau) ฟลอสเซนแบร์ก (Flossenberg) และซัคเซินเฮาเซิน (Sachsenhausen) ณ ที่กักกันสุดท้ายนี้เองที่เขาได้รับสิทธิพิเศษให้อยู่ในที่พักที่แยกจากนักโทษอื่น ๆ โดยที่ภรรยาและบรรดาบุตรของเขาซึ่งถูกกักตัวด้วยสามารถเข้ามาเยี่ยมเยียนได้ ตลอดช่วงเวลาที่เขาถูกกักกันตัว ชุชนิกก์ได้รับสถานะพิเศษเฉกเช่นนักโทษการเมืองอื่น ๆ ที่ได้รับการผ่อนปรนและการปฏิบัติที่ดีพอสมควร เขามีหญิงรับใช้ที่คอยดูแลทำความสะอาดที่พักอาศัยให้และเธอยังไปเป็นเพื่อนภรรยาของเขาเมื่อออกไปชื้อของในเมือง ในขณะที่คูร์ทบุตรชายสามารถออกจากค่ายกักกันซัคเซินเฮาเซินเพื่อไปเรียนหนังสือได้และเมื่อคูร์ทสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและเข้ารับราชการทหารเรือแล้วเขาก็ยังลาพักร้อนเพื่อมาพำนักอยู่เป็นเพื่อนบิดาในค่ายกักกันได้ สิทธิพิเศษที่ครอบครัวชุชนิกก์ได้รับนี่ต้องแลกเปลี่ยนด้วยคำสัญญาว่าพวกเขาจะต้องไม่แพร่งพรายให้ผู้ใดทราบว่าชุชนิกก์ถูกกักกันตัวอยู่ที่ไหนและสภาพของค่ายกักกันเป็นอย่างไร

 ชุชนิกก์ยังสามารถนำเฟอร์นิเจอร์บางส่วนและหนังสือจากห้องสมุดในบ้านของเขามาไว้ในที่กักกันได้ นอกจากนี้ เขายังได้รับไวน์วันละ ๑ ขวดสำหรับดื่มในระหว่างรับประทานอาหารด้วย สิทธิพิเศษที่เขาได้รับทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแผนของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ที่ต้องการเก็บตัวเขาไว้เพื่อใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อเมื่อจักรวรรดิได้รับชัยชนะในบั้นปลายของสงครามเพื่อให้ชาวโลกได้ตระหนักถึงความการุณย์ของจักรวรรดิที่มีต่อศัตรูของพวกตน

 ในวันที่ ๒๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ชุชนิกก์ได้รับการปล่อยตัวจากค่ายกักกันซัคเซินเฮาเซินพร้อมกับนักโทษสถานะพิเศษอีกราว ๑๓๐ คน ปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับคำสั่งจากเอดการ์ ชติลเลอร์ (Edgar stiller) หัวหน้าหน่วยเอสเอส (SS)* และบาเดอร์ (Bader) รองหัวหน้าหน่วยให้นำนักโทษเหล่านี้ไปไว้ยังที่ปลอดภัยจากกองทัพสัมพันธมิตร ทั้งยังสั่งการให้สังหารนักโทษทุกคนหากต้องประสบกับสถานการณ์คับขันและเลวร้ายเพื่อให้ความจริงในหลาย ๆ เรื่องตายไปพร้อมกับนักโทษเหล่านี้ นักโทษทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายทั้งโดยรถบัสโดยสารและรถบรรทุกสิบล้อมุ่งตรงไปยังโดโลไมต์ (Dolomite) ในแคว้นทิโรลตอนใต้ แต่เมื่อรถบรรทุกนักโทษเหล่านี้ไปถึงเมืองนีเดอร์ดอร์ฟ (Niederdorf) วิคาร์ด ฟอน อัลเวินส์เลเบิน (Wichard von Alvensleben) หัวหน้าหน่วยกองกำลังป้องกันตนเองแห่งออสเตรีย พร้อมทั้งกองกำลังของเขาได้บังคับให้พวกเอสเอสยอมแพ้และส่งมอบนักโทษทั้งหมด ในวันที่ ๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ชุชนิกก์พร้อมกับภรรยาและเอลิซาเบทบุตรสาวได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระโดยกองทัพอเมริกันพร้อมกับนักโทษคนอื่น ๆ ที่ถูกเคลื่อนย้ายมาด้วยกัน หลังจากนั้นครอบครัวชุชนิกก์ไปพำนักในอิตาลีเกือบ ๓ ปี

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ ชุชนิกก์และสมาชิกในครอบครัวทั้งหมดได้อพยพจากอิตาลีไปพำนักยังสหรัฐอเมริกา เขาได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาวิชากฎหมายมหาชนที่มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ในรัฐมิสซูรี และต่อมาก็ได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน ใน ค.ศ. ๑๙๕๙ เวราถึงแก่กรรมลงเขาพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกาต่อมาจน ค.ศ. ๑๙๖๘ จึงได้เดินทางกลับไปยังออสเตรียเพื่อใช้ชีวิตในนั้นปลายอย่างสงบสุขที่แคว้นทิโรล โดยไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือมีบทบาททางการเมืองแต่อย่างใด ชุชนิกก์มีงานเขียนทางด้านประวัติศาสตร์ การเมือง และกฎหมายมหาชนทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วหลายเรื่อง เรื่องสำคัญที่นักประวิติศาสตร์และนักวิจัยรุ่นหลังมักใช้อ้างอิง ได้แก่ My Austria (ค.ศ. ๑๙๓๗) Austrian Reguiem (ค.ศ. ๑๙๔๖) International Law (ค.ศ. ๑๙๕๙) Brutal Takeover (ค.ศ. ๑๙๖๙) และ Im Kampf gegen Hitler. Die Überwindung der Anschlussidee (ค.ศ. ๑๙๖๙)

 คูร์ท อาลัวส์ โยเซฟ โยฮันน์ เอดเลอร์ ฟอน ชุชนิกก์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๗ ที่เมืองมุทเทิร์ส (Mutters) ใกล้เมืองอินนส์บรุค ขณะ อายุ ๘๐ ปี.



คำตั้ง
Schuschnigg, Kurt Alois Josef Johann Edler von
คำเทียบ
นายคูร์ท อาลัวส์ โยเซฟ โยฮันน์ เอดเลอร์ ฟอน ชุชนิกก์
คำสำคัญ
- กองกำลังอิสระ
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- เกสตาโป
- ความตกลงแบร์ชเทสกาเดิน
- ความตกลงออสเตรีย-เยอรมนี
- ค่ายกักกัน
- ชติลเลอร์, เอดการ์
- ชุชนิกก์, คูร์ท อาลัวส์ โยเซฟ โยฮันน์ เอดเลอร์ ฟอน
- ไซส์ซิงควาร์ท, อาร์ทูร์
- พรรคนาซี
- พรรคสังคมคริสเตียน
- ฟิชเบิค, ฮันส์
- มิคลัส, วิลเฮล์ม
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาสันติภาพแซงแชร์แมง
- สภาไรค์ชตาก
- ออสเตรีย-ฮังการี
- อัลเวินส์เลเบิน, วิคาร์ด ฟอน
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1897-1977
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๕๒๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
บรรพต กำเนิดสิริ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-